เฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก..
![]() |
- โรคไข้เลือดออกเดงกี เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มียุงลายเป็นแมลงนำโรค โรคนี้ได้กลายเป็นปัญหาสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากโรคได้แพร่กระจายอย่างกว้างขวางและจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 30 ปีที่ผ่านมา มากกว่า 100 ประเทศที่โรคนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่น และโรคนี้ยังคุกคามต่อสุขภาพของประชากรโลกมากกว่าร้อยละ 40 (2,500 ล้านคน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะพบมากในประเทศเขตร้อนและเขตอบอุ่น
- เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ซึ่งเป็น single - strand RNA จัดอยู่ใน genus Flavivirus และ family Flaviviridae มี 4 serotypes คือ DEN-1, DEN-2, DEN-3 และ DEN-4 ทั้ง 4 serotypes มี antigen ร่วมบางชนิด จึงทำให้มี cross reaction และ cross protection ได้ในระยะเวลาสั้นๆ เมื่อมีการติดเชื้อไวรัสเดงกีชนิดหนึ่งจะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเดงกีชนิดนั้นตลอดไป (long lasting homotypic immunity) และจะมีภูมิคุ้มกัน cross protection ต่อชนิดอื่น (heterotypic immunity) ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 6-12 เดือน ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีไวรัสเดงกีชุกชุมอาจมีการติดเชื้อ 3 หรือ 4 ครั้งได้
- โรคไข้เลือดออกเดงกีติดต่อกันได้โดยมียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นแมลงนำโรคที่สำคัญ และในชนบทบางพื้นที่ จะมียุงลายสวน (Aedes albopictus) เป็นแมลงนำโรคร่วมกับยุงลายบ้าน เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้ ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย พร้อมที่จะเข้าสู่คนที่ถูกกัดต่อไป เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสเดงกีไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นป่วยได้
- ระยะเพิ่มจำนวนของไวรัสเดงกี ในยุง ประมาณ 8-10 วัน
- ระยะฟักตัวของเชื้อไวรัสเดงกี ในคน ประมาณ 3-14 วัน โดยทั่วไปประมาณ 5-8 วัน
- โรคไข้เลือดออกเดงกีไม่ติดต่อจากคนสู่คน ติดต่อกันได้โดยมียุงลายเป็นแมลงนำโรค การติดต่อจึงต้องใช้เวลาในผู้ป่วยและในยุง ระยะที่ผู้ป่วยมีไข้สูงประมาณวันที่ 2-4 จะมีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก ระยะนี้จะเป็นระยะติดต่อจากคนสู่ยุง และระยะเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสในยุงจนมากพออีกประมาณ 8-10 วัน จึงจะเป็นระยะติดต่อจากยุงสู่คน
ในปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี่ จึงให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ คือ
· เช็ดตัวลดไข้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการชัก
· ให้ยาลดไข้จำพวกพาราเซตามอล “ห้ามใช้ยาจำพวกแอสไพริน” เพราะจะทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารและทำให้เลือดออกง่าย
· ให้ผู้ป่วยได้รับสารน้ำชดเชย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีไข้สูง เบื่ออาหาร อาเจียนและอ่อนเพลีย ควรให้ดื่มน้ำผลไม้ น้ำเกลือแร่ โดยดื่มทีละน้อยๆ แต่ดื่มบ่อยๆ
· ควรให้รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย
· เมื่อสงสัยว่าคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก โดยมีไข้สูงลอย เกิน 38.5 องศาเซลเซียส
· นานเกิน 2 วัน หรือหน้าแดง คอแดง ปวดศีรษะ หรือปวดกระบอกตา ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว จะช่วยให้ลดโอกาสการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกได้
วิธีป้องกันโรคไข้เลือดออก
1. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย แน่นอนว่าผลของฝนที่ตกลงมาแค่บางวัน หรือบางช่วง ทำให้มีน้ำท่วมขังในหลาย ๆ แห่ง ไม่ว่าจะเป็นในภาชนะต่าง ๆ บ่อ หรือหลุมตามพื้น ดังนั้นเมื่อฝนเริ่มตกคุณควร
1. ควรเทน้ำที่ขังอยู่ในภาชนะต่าง ๆ รอบบ้านลงพื้นดิน และคว่ำภาชนะไว้
2. ปิดฝาอ่าง หรือโอ่งที่รองน้ำไว้ใช้
3. หากมีหลุมที่น้ำสามารถท่วมขังได้ ให้กลบทำลาย
4. จุดที่จำเป็นต้องหล่อน้ำไว้ ให้นำทรายอะเบทเทใส่ลงไปในน้ำ และควรเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ
5. สำหรับอ่างบัว หรือพืชน้ำต่าง ๆ ควรเลี้ยงปลาหางนกยูง ปลากัดไว้ช่วยกำจัดลูกน้ำ
2. ฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุง การฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุงจะช่วยลดปริมาณยุงได้ 3-7 วัน และเป็นการตัดวงจรการระบาดในที่ ๆ มีผู้ป่วยไข้เลือดออก เพราะหากพื้นที่นั้นมีคนเป็นไข้เลือดออก แปลว่ายุงในบริเวณนั้นมีเชื้ออยู่
3. ใส่เสื้อผ้ามิดชิด หากบริเวณที่พักอาศัย หรือที่ทำงานมียุง การแต่งกายด้วยเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวจะช่วยให้ยุงกัดเราได้ยากขึ้น
4. นอนในมุ้ง อาจฟังดูโบราณ แต่หากพื้นที่บ้านมียุงมาก การนอนในมุ้งก็ช่วยให้อุ่นใจว่ายุงจะไม่มากัด หรือสร้างความรำคาญตอนนอนได้
5. ใช้สเปรย์ หรือโลชั่นกันยุง ฉีดสเปรย์ หรือทาโลชั่นกันยุงลงบนผิวเพื่อช่วยไล่ยุง ไม่ให้มากัด
6. ปรับปรุงบ้าน สำรวจดูตามรอยต่อประตูหน้าต่างว่ามีรูที่ยุงสามารถบินเข้ามาได้หรือไม่ หากมีควรซ่อมแซมให้เรียบร้อย และควรติดตั้งมุ้งลวดที่ประตูหน้าต่างเพื่อกันยุง และแมลงต่างๆ
7. ปลูกพืชช่วยไล่ยุง หากพอมีพื้นที่ พืชสวนครัวหลายชนิดก็ช่วยไล่ยุงได้เช่นกัน เพียงแค่คอยขยี้ใบให้กลิ่นจากใบออกมา ไม่ว่าจะเป็น ตะไคร้หอม โหระพา สะระแหน่ ใบแมงลัก นอกจากนี้ยังมีเจอราเนียม ลาเวนเดอร์ และโรสแมรี่